พะแนงเนื้อ
พะแนงเนื้อ

     อาหารภาคกลางนั้นเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมกันทั่วประเทศ เอกลักษณ์นั้นก็คงจะเป็นความหลากหลายของรสชาติอาหาร เปรี้ยว เค็ม หวาน มัน เผ็ดครบรส และวัตถุดิบ ทั้งยังมีมากมายให้เราได้เลือกรับประทาน ทั้งคาว และหวาน ทำรับประทานง่าย ๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน เพราะเป็นภาคที่ถือว่าอุดมสมบูรณ์กว่าภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย แถมยังเป็นภาคที่ผสมผสานวัฒนธรรมอาหารของต่างชาติเข้ามาด้วย วิธีการปรุงเองก็มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน ทั้งการแกง ต้ม ผัด ยำ ทอด ในวันนี้เราจึงได้นำเมนูอาหารภาคกลางประเภทแกงอย่าง “พะแนง” มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

     เชื่อว่าหลายคนนั้นคงเคยรับประทานพะแนงมาบ้างแล้ว เพราะเป็นอีกหนึ่งอาหารไทยที่ได้รับความนิยมทั้งในไทย และต่างชาติ เพราะเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์แบบไทยแท้ ๆ อร่อยเข้มข้นเต็มรสพริกแกงจากเครื่องเทศหลายชนิด เช่น ข่า ตะไคร้ รากผักชี ฯลฯ รสชาตินั้นลงตัวสุด ๆ ทั้งความหอมละมุนจากส่วนผสม และยังเป็นอาหารที่อยู่คู่คนไทยมานานตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ โดยเชื่อกันว่าแต่เดิมนั้นเป็นไก่ย่าง ราดด้วยพริกแกง ไม่ใช่แกงพะแนงอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ดังนั้น เราไปทำความรู้จักเมนูนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ

| พะแนง หนึ่งในอาหารไทยที่ถูกกล่าวถึงในตำราแม่ครัวหัวป่าก์
พะแนงเนื้อ

     “สมั่นแกงพะแนงไก่ให้เสวย ขนมปังขนุนหนังทั้งนมเนย แต่งสังเวยตั้งเต็มโต๊ะสุวรรณ” นี่คือคำที่กล่าวถึงแกงพะแนงในตำราอาหารไทยเล่มแรกอย่าง “แม่ครัวหัวป่าก์” โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงค์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นตำราอาหารที่สำคัญมากกับอาหารไทย และทำให้เราได้รู้ว่าเมนูอาหารภาคกลางนามว่าพะแนงนั้นเป็นเมนูที่ถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ในสมัยโบราณ และเป็นอาหารที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย และวัฒนธรรมการกินของเขมรผสมผสานกัน เนื่องจากชื่อนั้นมาจากภาษาเขมรที่แปลว่าท่าขาไขว้ขัดกัน หรือที่เราเรียกกันว่านั่งขัดสมาธินั่นเองค่ะ

     นอกจากพะแนงจะเป็นอาหารที่อร่อยเข้มข้นครบรสตามแบบฉบับอาหารไทยแล้ว ยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย เป็นอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์สูง ไขมันคุณภาพดีจากกะทิ เหมาะกับคนที่ใช้พลังงานเยอะ ๆ อีกทั้งเครื่องเทศต่าง ๆ ที่นำมาใช้ทำเครื่องแกงยังมีสรรพคุณเฉพาะตัวมากมายนับไม่ถ้วน ถือเป็นอาหารไทยที่ทั้งอร่อย และมีประโยชน์ ดังนั้น เราจึงได้มีสูตรวิธีการทำสุดแสนจะง่ายดาย ทั้งส่วนของพริกแกงพะแนง และส่วนของวิธีการทำง่าย ๆ ให้ทุกคนได้อัพทักษะทำอาหารให้เพิ่มขึ้น และในตอนนี้เราไปดูวัตถุดิบที่ใช้ในการทำกันเลยค่ะ

วัตถุดิบในการพะแนง
วัตถุดิบในการทำพริกแกงพะแนง
  1. พริกแห้งเม็ดใหญ่แช่น้ำ 80 กรัม
  2. ข่า 2 ช้อนโต๊ะ
  3. ตะไคร้ 3 ช้อนโต๊ะ
  4. กระเทียมไทย 3 ช้อนโต๊ะ
  5. หอมแดง 3 ช้อนโต๊ะ
  6. ลูกผักชีคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
  7. ลูกยี่หร่าคั่ว 2 ช้อนชา
  8. ผิวมะกรูด 2 ช้อนชา
  9. รากผักชี 2 ช้อนชา
  10. กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
  11. เกลือ 2 ช้อนชา
วัตถุดิบในการทำพะแนงเนื้อ
  1. เนื้อวัว 500 กรัม
  2. มะเขือพวง 1 ถ้วย
  3. พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ 2 เม็ด
  4. ใบมะกรูดซอย 7 ใบ
  5. หัวกะทิ 1 ถ้วย
  6. กะทิ 1 ถ้วย
  7. พริกแกงพะแนง 50 กรัม
  8. น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
  9. น้ำตาลปี๊ป 2 ช้อนโต๊ะ
วัตถุดิบในการพะแนง
ขั้นตอนวิธีการทำพะแนงเนื้อ

     พะแนงนั้นเป็นอาหารไทยประเภทแกง ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้ถั่วลิสงคั่วเป็นวัตถุดิบหลัก จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแกงพะแนง ซึ่งเราเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน เพราะถั่วลิสงไม่ได้รับความนิยมในยุคนี้ แต่หากใครอยากลองทานก็สามารถใส่เพิ่มเติมได้จากสูตรวิธีการทำที่เรานำมาให้ทุกคนได้ลองทำตามกันง่าย ๆ และสามารถปรับใช้สูตรนี้กับเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด

  1. ขั้นตอนแรกตำพริกแกงพะแนง โดยเริ่มจากการใส่พริก เกลือป่น รากผักชี ผิวมะกรูด ลูกผักชีคั่ว ลูกยี่หร่าคั่ว ตะไคร้ซอย และข่า พอตำจนละเอียดแล้วให้เติมกระเทียม หอมแดง ตำให้ละเอียด และเติมกะปิลงไปตำต่อให้เข้ากันเป็นเนื้อพริกแกงพะแนง
  2. ตั้งกระทะด้วยไฟกลาง เติมหัวกะทิลงไป เมื่อกะทิเดือดแล้วให้ใส่พริกแกงพะแนงที่เตรียมไว้ในขั้นตอนแรกลงไปคนให้กะทิแตกมัน จากนั้นใส่เนื้อวัวลงไปผัดให้เข้ากันจนเนื้อวัวสุก ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา กะทิ คนให้เข้ากันจนน้ำกะทิเข้มข้น ตามด้วยมะเขือพวง พริกชี้ฟ้า ใบมะกรูดซอย เมื่อมะเขือพวงสุกแล้วก็จัดเสิร์ฟได้เลยค่ะ

ภาพจาก